โพชฌังคปริตร พิชิตโรค
บทสวดมนต์โพชฌังคปริตร
บทสวดมนต์โพชฌงค์
รักษาโรคภัยไข้เจ็บ
ใจความสำคัญ : เป็นบทสวดกล่าวอ้างถึงความจริง ๔ อย่างคือ ๑) ธรรม คือ โพชฌงค์ ๗ อันได้แก่ สติ (ความระลึกได้), ธัมมวิจยะ (การพิจารณา การเลือกเฟ้นธรรม), วิริยะ (ความเพียร, การลงมือทำอย่างต่อเนื่อง), ปีติ (ความอิ่มใจ), ปัสสัทธิ (ความสงบใจ), สมาธิ (ความตั้งมั่นแห่งใจ), และอุเบกขา (ความวางเฉยด้วยความเข้าใจ) ธรรมทั้ง ๗ นี้เป็นธรรมนำผู้ปฏิบัติให้ถึงพระนิพพานจริง ๒) คราวหนึ่งพระมหาโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะอาพาธหนัก พอได้ฟังโพชฌงค์ ๗ ก็หายจากอาการอาพาธจริง ๓) สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประชวร พระจุนทะสาธยายโพชฌงค์ ๗ ให้สดับ ก็ทรงหายประชวรจริง ๔) อาพาธของท่านทั้ง ๓ หายไปไม่กลับเป็นอีก ดุจกิเลสที่ละแล้วไม่กลับกำเริบอีกจริง ด้วยสัจจะความจริง ๔ ประการนี้ ขอความสวัสดีจงเกิดมีแก่ข้าพเจ้า
อานุภาพ : ป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
ประวัติ : เป็นบทสวดที่แต่งขึ้นใหม่โดยอาจารย์รุ่นหลัง โดยเก็บเอาเนื้อความจากพระสูตร ๓ สูตร ได้แก่ กัสสปโพชฌังคสูตร มหาโมคคัลลานโพชฌังคสูตร และจุนทโพชฌังคสูตร มาแต่งเป็นบทสวดสัตยาธิษฐาน เพื่อให้เกิดอานุภาพในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
บทสวดมนต์โพชฌงค์
โพชฌังโค สะติ สังขาโต
ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
วิริยัมปีติ ปัสสัทธิ
โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
สะมาธุเปกขะโพชฌังคา
สัตเต เต สัพพะทัสสินา
มุนินา สัมมะทักขาตา
ภาวิตา พะหุลีกะตา
สังวัตตันติ อะภิญญายะ
นิพพานายะ จะ โพธิยา
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา.
เอกัส๎มิง สะมะเย นาโถ
โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง
คิลาเน ทุกขิเต ทิส๎วา
โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ
เต จะ ตัง อะภินันทิต๎วา
โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
โสตถิ เม* โหตุ สัพพะทา.
เอกะทา ธัมมะราชาปิ
เคลัญเญนาภิปีฬิโต
จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ
ภะณาเปต๎วานะ สาทะรัง
สัมโมทิต๎วา จะ อาพาธา
ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
โสตถิ เม* โหตุ สัพพะทา.
ปะหีนา เต จะ อาพาธา
ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
มัคคาหะตะกิเลสา วะ
ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
โสตถิ เม* โหตุ สัพพะทา.
* ถ้าสวดให้ผู้อื่นเปลี่ยนจาก เม (แก่ข้าพเจ้า) เป็น เต (แก่ท่าน)
ที่มา : สวดมนต์ฉบับหลวง สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว) หน้า ๒๓
ประยุกต์ใช้ : โพชฌงค์ ๗ นี้ มีคุณูปการต่อการงาน การดำเนินชีวิตทุกประการ มากบ้างน้อยบ้าง ตามความรู้ความสามารถในการประยุกต์ใช้ของแต่ละคน หัวใจของโพชฌังคปริตร ได้แก่ สะธะวิปีปะสะอุ ทั้ง ๗ คำนี้ ใช้บริกรรมเป่ากระหม่อมเด็กที่ตัวร้อนมีไข้สูง หรือเป่าตามร่างกายที่มีอาการเจ็บปวดเนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง เจ็บคอ เป็นต้น มีอานุภาพทำให้อาการเหล่านั้นหายไป
รวบรวมเรียบเรียงโดย
ศักดิ์สิทธิ์ พันธุ์สัทธ์
น.ธ.เอก, ป.ธ.๗, พธ.บ. (ภาษาไทย)
บรรณาธิการแห่งสำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์