พระคาถาสุนทรีวาณี
พระคาถาสุนทรีวาณี
เทพแห่งปัญญาบารมี สวดบูชา ๓ จบ ๗ จบ ๙ จบ บังเกิดโชคลาภ ค้าขายร่ำรวย ประสบความสำเร็จทั้งปวง
มุนินทะ วะทะนัมพุชะ
คัพภะสัมภะวะ สุนทะรี
ปาณีนัง สะระณัง วาณี
มัยหัง ปิณะยะตัง มะนัง ฯ
พระสุนทรีวาณี
หรือที่รู้จักกันในอีกพระนามหนึ่งว่า นางสุนทรีวาณี
เป็นเทพธิดาตามคติในศาสนาพุทธในประเทศไทย มีหน้าที่คุ้มครองดูแลรักษาพระธรรมและพระไตรปิฎก มีต้นกำเนิดจากวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ลักษณะเป็นเทพธิดามีพระวรกายสีขาวบริสุทธ์ ฉลองพระองค์ดั่งนางกษัตรีย์ในศิลปะไทย อาภรณ์สีขาว มีสองกร หัตถ์ขวาแสดงอาการกวักเรียก (ต่อมาเปลี่ยนเป็นวิตรรกมุทรา) หัตถ์ซ้ายทรงดวงแก้วไว้ในหัตถ์วางบนเพลา (ตัก) โดยลักษณะและคติความเชื่อของนางพระสุนทรีวาณีนี้ คล้ายคลึงกับคติการบูชาพระสรัสวดีในศาสนาฮินดู ศาสนาเชน ศาสนาพุทธแบบทิเบต ศาสนาพุทธแบบพม่า และเบ็นไซเต็งในพุทธศาสนาแบบญี่ปุ่น พุทธศาสนาแบบจีน และลัทธิชินโต.
ประวัติของพระสุนทรีวาณี
แต่เดิมนั้นเป็นภาพพระสุนทรีวาณี อันเป็นเทพธิดาสถิตอยู่บนดอกบัว สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงคิดแบบขึ้นจากพระสูตรสัททาวิเสส แล้วทรงให้ท่านหมื่นศิริธัช สังกาศ เจ้ากรม (แดง) จัดการเขียนขึ้นเอาไว้ในพระตำหนักของสมเด็จฯ ปรากฏว่าเป็นที่สนพระทัยและนับถือยิ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงโปรดให้สร้างโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร จึงให้ออกแบบพระสุนทรีวาณีเพื่อป็นสัญญาลักษณ์ประจำเป็นต้น
พระสุนทรีวาณีในปัจจุบัน
เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์หนังสือ “พระสุนทรีวาณี” พระราชทานเป็นพระราชกุศลธรรมทาน ทรงพระอนุสรณ์ถึง “คาถาพระสุนทรีวาณี” ที่โบราณบัณฑิตสรรเสริญว่าหากบริกรรมสม่ำเสมอจะเกิดปัญญา โดยพระเถระผู้ใหญ่มักแนะนำให้นวกภิกษุผู้เริ่มศึกษาพระธรรม บริกรรมคาถานี้เป็นนิตย์ ก่อให้เกิดสมาธิจิตตั้งมั่น บันดาลให้เข้าถึงถ่องแท้ในพระพุทธศาสนาโดยง่าย และนำไปสู่ความกระจ่างลึกซึ้งถึงแก่นพระพุทธศาสนายิ่งขึ้นตามลำดับ พร้อมน้อมนำความใฝ่รู้ใฝ่เรียนมาเป็นทางประพฤติของตน ทั้งอำนวยผลเป็นสติปัญญาแก่ผู้หมั่นศึกษา และพากเพียรดำเนินตามรอยพระราชจริยาอันเป็นแบบอย่างที่พระราชทานไว้นับแต่อดีตสมัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์มาจัดพิมพ์เป็นปก พร้อมบทพระราชปรารภพระราชทานไว้ในตอนต้นของเล่ม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประมวลเนื้อหาประกอบด้วยพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 และลายพระหัตถ์ของพระบรมวงศ์ ลิขิตของพระเถระ จดหมายกราบทูลของข้าราชการ และเรื่องสืบเนื่องซึ่งเกี่ยวกับพระสุนทรีวาณี อีกทั้งรูปพระสุนทรีวาณีซึ่งถ่ายจากต้นฉบับของสมเด็จพระวันรัต (แดง สีละวัฑฒะโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม และพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๕