ประวัติพระครูอรุณธรรมรังษี
อัตประวัติ
พระครูอรุณธรรมรังษี (เอี่ยม สิริวณฺโณ)
ต้นตำรับหนังสือมนต์พิธีที่เผยแผ่ไปทั่วโลก
ชาติภูมิ
พ.ศ. ๒๔๗๖ : ลืมตาดูโลก
ข้าพเจ้า พระครูอรุณธรรมรังษี มีนามเดิมว่า เอี่ยม นามสกุล สุภราช เกิดที่บ้านพังตรุ หมู่ที่ ๑ ตำบลพังตรุ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีระกา
โยมบิดาชื่อ นายกรุย สุภราช โยมมารดาชื่อ นางแคล้ว สุภราช (ศรีสุข) อาชีพทำนา
โยมบิดามีพี่น้องร่วมอุทร ๔ คน คือนางโฉม เรือนอิน, นายอุ่น สุภราช, นายกรุย สุภ-ราช, นางฉิน หว่างดอนไพร
โยมมารดามีพี่น้องร่วมอุทร ๘ คน คือ นางแคล้ว สุภราช (ศรีสุข), นายหริ่ง ศรีสุข, นางนอง ตะพัง, นางเนื่อง ตะพัง, นายไปล่ ศรีสุข, นางตุ้งลิ้ง ปั้นหยัด, นางละออง สมนึก, นางเยื้อน ผิวเกลี้ยง
ข้าพเจ้ามีพี่น้องทั้งหมด ๕ คน ดังนี้
๑) นายเลี้ยง แก้วพริ้ง
๒) นายเอี่ยม สุภราช
(พระครูอรุณธรรมรังษี)
๓) นายอิ่ม สุภราช
๔) นายสุนันท์ สุภราช
๕) นายแทน ดอกพรม
ชีวิตปฐมวัย
เมื่อข้าพเจ้าเจริญวัยขึ้นมีอายุควรแก่การศึกษา มารดาได้นำเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดพังตรุ ขณะเรียนจบชั้นป.๒ บิดาได้ถึงแก่กรรม ข้าพเจ้าจึงอยู่กับมารดา ทำนาเลี้ยงชีพ
คราวหนึ่ง ข้าพเจ้าป่วยและทรุดหนักลงเรื่อยๆ มารดาทุกข์ใจมากจึงจุดธูปเทียนบนว่า “ถ้าหายจะให้บวชเณร ๗ วัน” จากนั้น ๒-๓ วัน ข้าพเจ้าก็เริ่มอาการดีขึ้นจนกระทั่งหาย และได้เข้าเรียนหนังสือต่อจนกระทั่งจบชั้นป.๔ แต่ยังไม่ทันได้บวชแก้บน มารดาก็ถึงแก่กรรมอีกคน ข้าพเจ้าจึงได้ย้ายมาอาศัยอยู่กับยายและน้าสาว (น้าเยื้อน)
ต่อมา ข้าพเจ้าป่วยหนักอีกครั้ง จึงได้เล่าเรื่องที่แม่เคยบนไว้ให้ยายฟัง ยายได้บนต่อไปอีกว่า “ถ้าหายป่วยจะให้บวชเพิ่มอีก ๗ วัน รวมเป็น ๑๔ วัน” จากนั้น ๒-๓ วัน อาการป่วยของข้าพเจ้าก็ดีขึ้นตามลำดับจนหาย มีสุขภาพแข็งแรงเช่นเคย
บรรพชา
พ.ศ. ๒๔๙๓ : อายุ ๑๗ ปี
พระครูพนมธรรมรัต (ซ้ง)
วัดสาลวนาราม (ดอนตาเพชร)
อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
หลังจากหายป่วยในคราวนี้ ยายได้พาข้าพเจ้าเดินทางไปวัดสาลวนาราม (ดอนตาเพชร) อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เข้ากราบหลวงพ่อซ้ง (พระครูพนมธรรมรัต) เจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบลพนมทวน แจ้งความประสงค์ว่าจะบวชแก้บน ๑๔ วัน และขอให้ท่านบรรพชาให้ หลวงพ่อได้เมตตาบรรพชาเป็นสามเณรให้ตามคำขอ เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล ขณะนั้นข้าพเจ้ามีอายุ ๑๗ ปี
เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ยายได้ฝากข้าพเจ้าไว้กับหลวงพ่อซ้ง และฝากไว้ในความอุปถัมภ์ของครอบครัว นายเปลี่ยนและนางละเอียด สืบนาค บ้านใกล้วัด
ผ่านไป ๒ สัปดาห์ครบกำหนด ๑๔ วันตามที่บนไว้ ข้าพเจ้าตัดสินใจไม่สึก ตั้งใจจะบวชเรียนต่อ แต่ขณะนั้นทางวัดได้เปิดทำการเรียนการสอนมานานแล้ว พระอาจารย์เหลือ รองเจ้าอาวาสและครูสอน เห็นว่าคงเรียนไม่ทันเพื่อนจึงให้ข้าพเจ้ารอเรียนในปีถัดไป และให้ข้าพเจ้าท่องบทสวดมนต์ เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ทำวัตรเช้า-เย็น แปล รวมถึงหนังสือ นวโกวาท คู่มือพระพุทธประวัติ (บางตอน) คู่มือวินัยมุข เล่ม ๑ (บางตอน) พุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๑ ซึ่งเป็นหลักสูตรเรียนนักธรรมชั้นตรี เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียนในปีถัดไป
ปีนั้น ที่วัดสาลวนาราม มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาด้วยกันประมาณ ๒๐ กว่ารูป
สอบนักธรรมชั้นตรี-โท
พ.ศ. ๒๔๙๔-๙๕ :
อายุ ๑๘-๑๙ ปี
หลังจากพรรษาแรกผ่านพ้นไปเข้าสู่ปีการศึกษาใหม่ ทางวัดเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง บรรยากาศภายในวัดดูคึกคัก พระภิกษุสามเณรมีความกระตือรือร้นกับการเปิดเรียนใหม่ สำหรับข้าพเจ้าดูจะตื่นเต้นเป็นพิเศษ เพราะกว่าวันนี้จะมาถึงต้องรอมาหนึ่งปีเต็ม ผลจากการที่พระอาจารย์เหลือได้เคี่ยวเข็ญข้าพเจ้าให้ท่องหนังสือที่เป็นแม่บทปูพื้นฐานมาก่อนในปีที่แล้ว ทำให้ข้าพเจ้าเรียนสบายๆ ไม่ต้องคร่ำเคร่งท่องหนังสือเหมือนกับเพื่อนร่วมชั้นรูปอื่นๆ
เมื่อถึงวันสอบ ข้าพเจ้ารวมถึงผู้ที่จะเข้าสอบทุกรูปจะต้องเดินทางไปนอนค้างคืนที่ สนามสอบ คือ วัดบ้านทวน ซึ่งอยู่ห่างจาก
วัดสาลวนารามประมาณ ๗ กิโลเมตร การเดินทางสมัยนั้นไม่มีรถ ต้องเดินเท้าไปเอง เมื่อสอบเสร็จก็เดินเท้ากลับอีกครั้ง
ผลสอบออกมาปีนั้น (พ.ศ. ๒๔๙๔)ข้าพเจ้าสอบได้นักธรรมชั้นตรี และปีถัดมา พ.ศ. ๒๔๙๕ ก็สอบได้นักธรรมชั้นโท
ในปีนี้เอง พระอาจารย์เหลือได้ให้ข้าพเจ้าท่องพระปาติโมกข์ โดยท่านให้กำลังใจว่า การท่องจำพระปาติโมกข์แม้เป็นเรื่องที่ทำ
ได้ยาก แต่ถ้าทำได้ก็จะเป็นคุณแก่พระศาสนาไม่น้อย ข้าพเจ้าได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มเพื่อท่องพระปาติโมกข์ให้ได้ ที่สุดก็ทำสำเร็จ ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งในชีวิตของข้าพเจ้า
อุปสมบท
พ.ศ. ๒๔๙๖ : อายุ ๒๐ ปี
ปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ ข้าพเจ้ามีอายุครบ ๒๐ บริบูรณ์ ควรแก่การอุปสมบทเป็นพระภิกษุได้แล้ว จึงแจ้งความประสงค์ให้ทุกฝ่ายทราบ และได้เข้ารับการอุปสมบท เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๖ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ณ พระอุโบสถวัดเบญพาด ตำบลพังตรุ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี โดยมี
พระปลัดซ้ง อินฺทสโร (พระครูพนมธรรมรัต) เจ้าคณะตำบลพนมทวน วัดสาล-วนาราม เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอธิการเพิ่ม วัดดอนงิ้ว เป็นพระ
กรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์เหลือ รองเจ้าอาวาสวัด
สาลวนาราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้รับฉายาว่า สิริวณฺโณ แปลว่า “ผู้มีวรรณะงดงามเป็นมงคล”
ก้าวสู่เส้นทางบาลี
พ.ศ. ๒๔๙๖-๙๙ :
อายุ ๒๐-๒๓ ปี
หลังจากอุปสมบทได้เพียง ๑๐ วัน พระครูวัตตสารโสภณ (หลวงพ่อก้าน) เจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ท่านเป็นศึกษาจังหวัด และเจ้าคณะอำเภอพนมทวน ได้มีบัญชาให้พระปลัดซ้ง (พระครูพนมธรรมรัต) เจ้าคณะตำบลพนมทวน จัดส่งพระภิกษุสามเณรไปจำพรรษาเพื่อเรียนบาลีที่วัดไชยชุมพลชนะสงคราม โดยท่านได้เตรียมครูสอนไว้แล้ว คือ พระมหายิ้ม พุ่มน้อย
หลวงพ่อซ้งจึงจัดส่งพระภิกษุและสามเณรจากวัดสาลวนารามจำนวน ๖ รูป คือ
๑) พระณรงค์ ปริสุทฺโธ (วิเศษสิงห์)
ปัจจุบัน คือ พระเทพเมธากร
๒) พระไพบูลย์ กตปุญฺโญ (กลีบทอง)
ปัจจุบัน คือ พระธรรมคุณาภรณ์
๓) พระทอง สงวนศักดิ์
๔) พระประเสริฐ วิเศษสิงห์
๕) พระเอี่ยม สิริวณฺโณ (สุภราช)
ปัจจุบัน คือ พระครูอรุณธรรมรังษี
๖) สามเณรสมนึก บุญจิต
ส่งไปที่วัดไชยชุมพลชนะสงคราม
ข้าพเจ้าพร้อมคณะทั้งหมดได้ออกเดินทางจากวัดสาลวนาราม ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๖ เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ นาฬิกา โดยรถเมล์ปอเชียงถึงวัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) ตำบลบ้านใต้ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ นาฬิกา ทันเวลาเพลพอดี ซึ่งหลวงพ่อก้านได้จัดอาหารไว้ต้อนรับ
หลังจากฉันเพลเสร็จจึงแยกย้ายเข้าที่พัก โดยพระไพบูลย์กับข้าพเจ้าอยู่ห้องเดียวกัน พระณรงค์อยู่ห้องตรงข้าม รูปอื่นอยู่ห้องถัดไป
เมื่อมาอยู่ที่วัดไชยชุมพลชนะสงคราม(วัดใต้) แล้ว ข้าพเจ้าได้เรียนบาลีไวยากรณ์คู่กับนักธรรมชั้นเอก ๒ อย่างพร้อมกัน และภายในพรรษาของปีนี้ ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้ขึ้นสวดพระปาติโมกข์เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นก็ได้รับมอบหมายให้สวดเรื่อยมาสลับกับพระรูปอื่นที่ท่านเคยสวดอยู่ก่อนแล้ว
การสวดพระปาติโมกข์นี้ ไม่ว่าข้าพเจ้าจะไปอยู่วัดใด มักจะได้รับมอบหมายให้สวดเสมอและสวดเรื่อยมา เพิ่งมาหยุดสวดเอาเมื่อตอนอายุ ๘๐ ปี (พุทธศักราช ๒๕๕๖)
หลังออกพรรษา ข้าพเจ้าได้เข้าสอบนักธรรมชั้นเอกที่วัดหนองบัว พร้อมกับหลวงพี่ลำไย วัดลาดหญ้า ผลปรากฏว่าทั้งจังหวัดกาญจนบุรี มีผู้ที่สอบนักธรรมชั้นเอกได้เพียง ๓ รูป คือ
๑. พระทอง
๒. พระเอี่ยม สิริวณฺโณ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม
๓. พระก้อนดิน วัดเขารักษ์ อำเภอพนมทวน
ในส่วนของการเรียนบาลี ข้าพเจ้าได้บาลีไวยากรณ์ และแปลธรรมบท ๘ ภาค ใช้เวลาเรียนอยู่ ๓ ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๖-๒๔๙๙) จึงได้เข้าสอบที่วัดพระปฐมเจดีย์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ ผลปรากฏออกมาว่าสอบตก
ย้ายไปเป็นครู
วัดคูหาสวรรค์
พ.ศ. ๒๔๙๙ : อายุ ๒๓ ปี
ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ ขณะที่ข้าพเจ้าพำนักอยู่ที่วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ทางวัดคูหาสวรรค์ ตำบลสี่หมื่น อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ขาดครูสอนนักธรรม เนื่องจากพระธูปที่เป็นพระครูสอนคนเก่าได้ลาสิกขา
พระลิขิต (หลวงพี่เขียม) วัดอมรญาติ-สมาคม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีความคุ้นเคยกับข้าพเจ้าเป็นอย่างดี ได้ติดต่อข้าพเจ้าให้ไปเป็นครูสอนนักธรรมที่วัดคูหา-สวรรค์ เพื่ออนุเคราะห์แก่พระภิกษุ-สามเณร และสืบต่ออายุพุทธศาสนา
ข้าพเจ้าได้ตอบตกลง จึงได้ย้ายจากวัดไชยชุมพลชนะสงครามมาอยู่วัดคูหาสวรรค์ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอก เมื่อมาอยู่ที่นี่ได้ทำหน้าที่สำคัญ ๒ อย่างไปพร้อมกัน คือ เป็นครูสอนนักธรรมแก่พระภิกษุสามเณร และได้รับมอบหมายงานจากหลวงพ่อดี เจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์ ให้เป็นเลขาเจ้าอาวาสด้วย
ความเป็นอยู่ของพระเณรในวัดคูหา-สวรรค์สมัยนั้น การเดินทางไปมาไม่สะดวก ไม่เหมือนกับชื่ออำเภอดำเนินสะดวก เพราะมีน้ำท่วมประจำปี เนื่องจากยังไม่มีเขื่อนแม่กลอง เขื่อนวชิราลงกรณ พระเณรต้องพายเรือบิณฑบาต
หลวงพ่อทองดีเห็นว่าข้าพเจ้ามาอยู่ใหม่คงลำบากหากต้องพายเรือบิณฑบาต จึงบอกกับข้าพเจ้าว่าจะหาโยมส่งปิ่นโตให้ ข้าพเจ้าตอบปฏิเสธ แต่ได้ขอเรือ ๑ ลำกับไม้พาย ๑ เล่มแทน ท่านก็เมตตาจัดหาให้ ข้าพเจ้าฝึกหัดพายเรืออยู่ราวครึ่งเดือน เมื่อพายได้คล่องแคล่วดีแล้ว จึงพายเรือออกรับบิณฑบาต
พระเทพสาครมุนี (หลวงพ่อแก้ว)
เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร
วัดสุทธิวาตวราราม (ช่องลม)
ย้ายมาอยู่วัดช่องลม
พ.ศ. ๒๕๐๐ : อายุ ๒๔ ปี
ข้าพเจ้าอยู่ช่วยงานหลวงพ่อดีที่วัดคูหาสวรรค์ได้ ๑ ปี คิดอยากจะหาความเจริญ ก้าวหน้าให้กับตนเอง จึงเข้ากราบแจ้งความประสงค์ให้หลวงพ่อดีทราบ และขอให้ท่านช่วยฝากเข้าวัดช่องลม (วัดสุทธิวาตวราราม) ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาครให้ด้วย
หลวงพ่อดีท่านตอบตกลง และได้พาข้าพเจ้าเข้าพบหลวงพ่อแก้ว (พระเทพสาครมุนี) เจ้าอาวาส และเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาครฝากข้าพเจ้าเข้าวัด หลวงพ่อแก้วเมตตารับข้าพเจ้าไว้ ปกติท่านจะไม่รับพระอาคันตุกะที่ไม่ใช่สัทธิวิหาริก แต่เพราะเห็นแก่หลวงพ่อ
ทองดี ท่านจึงรับไว้
ข้าพเจ้าได้เข้าอยู่วัดช่องลม เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๐
เรียนรู้งานของคณะสงฆ์
เนื่องจากวัดช่องลม เป็นวัดมีทั้งเจ้าคณะจังหวัด คือพระเทพสาครมุนี (หลวงพ่อแก้ว) เจ้าคณะอำเภอเมืองสมุทรสาคร คือพระครูโอภาสธรรมสาคร และเจ้าคณะตำบลท่าฉลอม เขต ๑ คือพระปลัดจุ่น อยู่ในวัดเดียวกัน ทำให้งานคณะสงฆ์จำนวนมากมารวมอยู่ที่นี่ ทำให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสช่วยงานคณะสงฆ์แผนกเลขานุการ เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะจังหวัดเป็นประจำ ได้เรียนรู้งานต่างๆมากมาย ได้ฝึกพิมพ์ดีดจนสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี
คำคล้องจองชื่อเณร
ปีแรกที่มาอยู่วัดช่องลมนั้น มีสามเณรจำพรรษาด้วย ๑๗ รูป จำชื่อได้ไม่หมด ข้าพเจ้าจึงนำชื่อสามเณรมาแต่งเป็นคำคล้องจองเพื่อให้จำได้ ดังนี้
“เณรวัดช่องลม อุดมศักดิ์ศรี อ่านเขียนเรียนดี หลวงพี่บอกเสร็จ สิบเจ็ดองค์คือ เณรลือหัวหลิม เดินยิ้มเณรสม เดินก้มเณรประจวบ อ้วนอวบเณรสุนทร เชื้อมอญเณรสุวัฒน์ อึดอัดเณรอ่าง แบบบางเณรสมบูรณ์ (ปัจจุบันคือพระเทพสาครมุนี เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร) ชอบทูลเณรเฉลียว แห้งเหี่ยวเณรประชุม รัดกุมเณรบุญธรรม ผิวคล้ำเณรกฤษณ์ ตัวนิดเณรปรีดา โตกว่าเณรบุญส่ง อาจองเณรพยุง หลังกุ้งเณรสงวน เซซวนเณรสมาน เสียงกังวานเณรไมตรี หมดเพียงเท่านี้ ไม่มีอีกเอย”
ข้อความทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้ายังจำได้จนถึงทุกวันนี้
ปรนนิบัติหลวงพ่อแก้ว
หลวงพ่อแก้ว (พระเทพสาครมุนี) ท่านเคร่งครัดเรื่องเสขิยวัตรมาก โดยเฉพาะเรื่องห่มจีวรทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจนเข้าห้องสรงน้ำและจำวัตร
ในเวลา ๓ ทุ่ม พระภิกษุสามเณรสมัครใจเข้าบีบนวดให้ท่านคืนละ ๒ รูป ตามลำดับคิวที่จองไว้
หลวงพ่อแก้วท่านให้ความเมตตาแก่ลูกพระลูกเณรมาก ระหว่างที่เข้าปรนนิบัติ ท่านจะพูดคุยเป็นกันเอง ให้ความเอ็นดูเหมือนลูกหลาน ไม่ถือเนื้อถือตัว ถามอะไรท่านก็ตอบหมด แต่ส่วนใหญ่ไม่มีใครกล้าถาม ส่วนข้าพเจ้าถึงคิวเข้าปรนนิบัติเมื่อไร ก็มักจะขอให้หลวงพ่อเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง เช่นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติท่าน ซึ่งหลวงพ่อเมตตาเล่าให้ฟังว่า ท่านเกิดที่จังหวัดพระตะบอง ซึ่งเมื่อก่อนยังขึ้นอยู่กับไทย เข้ามาอาศัยในไทยตั้งแต่เป็นเด็ก ภายหลังจังหวัดพระตะบองถูกแบ่งแยกไป ก็ยังอาศัยอยู่ในไทย ได้บวชสามเณรแล้วบวชพระเรียนบาลีสอบได้ ๖ ประโยค กระทั่งได้รับตำแหน่งโน้น ตำแหน่งนี้ อยู่มาเรื่อยจนถึงบัดนี้
เมื่อนวดเสร็จออกมา พระรูปที่เข้าไปปรนนิบัติด้วยกันได้พูดแซวข้าพเจ้าว่า “คงมีท่านเอี่ยมรูปเดียวกระมัง ที่กล้าถามซอกแซกเรื่องส่วนตัวกับหลวงพ่อ”
ช่วยงานสอน
วัดแหลมสุวรรณาราม
ขณะที่อยู่วัดช่องลม ภายในพรรษาปีนั้น พระปลัดจุ่น เจ้าคณะตำบลท่าฉลอม เขต ๑ ได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าไปสอนนักธรรมที่วัดแหลมสุวรรณารามซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ตลอดพรรษานั้น เมื่อฉันเพลเสร็จ ข้าพเจ้าจะต้องเดินไปสอนหนังสือและเดินกลับระหว่างวัดช่องลมกับวัดแหลมสุวรรณารามทุกวัน วันไหนฝนตกฟ้าร้อง กรรมการวัดแหลมฯ ก็จัดรถ ๓ ล้อมาส่ง วิ่งบนสะพานชายแม่น้ำไม่ต้องเดิน
รับตำแหน่ง
เลขาเจ้าคณะตำบล
พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๐๖ :
อายุ ๒๕-๓๑ ปี
ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๐๑ พระปลัดจุ่น เจ้าคณะตำบลท่าฉลอม เขต ๑ ถูกส่งให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดแหลมสุวรรณาราม แทนหลวงพ่อเหล็งที่ชราภาพมากแล้ว
พระปลัดจุ่น ได้ขออนุญาตหลวงพ่อแก้ว (พระเทพสาครมุนี) ย้ายข้าพเจ้ามาช่วยงานเลขาเจ้าคณะตำบล และเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสด้วย หลวงพ่อแก้วอนุญาต ข้าพเจ้าจึงได้ย้ายจากวัดช่องลมมาพำนักที่วัดแหลมสุวรรณาราม เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๑ อยู่เรื่อยมาจนถึงเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ รวม ๖ ปีด้วยกัน
ช่วยงานเจ้าคณะอำเภอ
ระหว่างที่ข้าพเจ้าอยู่ช่วยงานเจ้าคณะตำบลที่วัดแหลมสุวรรณารามนั้น พระครูโอภาสธรรมสาคร เจ้าคณะอำเภอเมืองสมุทรสาคร ได้ย้ายจากวัดช่องลมไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเจษฎาราม ท่านได้ขอข้าพเจ้าให้มาช่วยทำหนังสือวารสาร ชื่อ “วารสารอำเภอเมือง” คู่กับพระพิเชษฐ์ซึ่งคุ้นเคยกันตั้งแต่อยู่วัดช่องลม
ทำให้ช่วงนั้น ข้าพเจ้ามีงานที่ต้องดูแลรับผิดชอบหลายอย่าง ทั้งงานในส่วนของเจ้าคณะจังหวัดที่วัดช่องลม งานในส่วนของ
เจ้าคณะตำบลและผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่วัดแหลม-สุวรรณาราม งานในส่วนของเจ้าคณะอำเภอที่วัดเจษฎาราม รู้สึกเหนื่อยแต่ก็สนุกกับงานที่ทำ
วัดอรุณราชวราราม
เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
สู่อ้อมกอด
วัดอรุณราชวราราม
พ.ศ. ๒๕๐๗ : อายุ ๓๑ ปี
หลังจากข้าพเจ้าได้อยู่ช่วยงานคณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสาครเป็นเวลาเกือบ ๗ ปี (พ.ศ.๒๕๐๑-๒๕๐๖) ในช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๐๖ ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะเข้ามาอยู่วัดอรุณ-ราชวราราม กรุงเทพฯ ซึ่งมีเพื่อนที่สนิทกันคือ พระมหาจรรยา จนฺทสิริ มาอยู่ก่อนแล้ว จึงเข้ากราบแจ้งความประสงค์ให้พระปลัดจุ่นทราบ
เมื่อพระปลัดจุ่นท่านอนุญาตแล้ว ข้าพเจ้าจึงเดินทางไปวัดเจษฎาราม เพื่อกราบลาพระครูโอภาสธรรมสาคร เจ้าคณะอำเภอเมืองสมุทรสาคร และขอให้ท่านฝากเข้าวัดอรุณฯ ให้ ซึ่งท่านได้เมตตาติดต่อขอให้โยม
ศิริ ศิริรัตน์ ทายกวัดเจษฎาราม ซึ่งมีความคุ้นเคยกับเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามช่วยฝากให้
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ)
โยมศิริรับปากและพาข้าพเจ้าเข้ากรุงเทพฯ เข้าพบและฝากตัวกับเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ) ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเมตตารับไว้ และให้ย้ายมาอยู่ได้ในวันที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๗
ข้าพเจ้าเดินทางกลับมาที่สมุทรสาครกราบเรียนให้หลวงพ่อแก้ว (พระเทพสาครมุนี) ได้ทราบ ท่านอำนวยอวยพรให้ เมื่อถึงวันเดินทาง หลวงพ่อได้เขียนข้อความใส่หลังนามบัตรมอบให้ข้าพเจ้า ใจความว่า
“หลวงพ่อขอส่งด้วยน้ำใจ”
พระเทพสาครมุนี
และได้ให้ลูกศิษย์มาซื้อตั๋วรถไฟชั้น ๑ ให้ด้วย นับเป็นความเมตตาอย่างที่สุดที่หลวงพ่อมอบให้ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าขึ้นรถไฟจากมหาชัยบ่าย ๒ โมง ถึงวงเวียนใหญ่ ต่อแท็กซี่เข้าวัดอรุณฯ เข้าพบหลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ท่านเซ็นรับหนังสือสุทธิเรียบร้อยแล้ว บัญชาให้เข้าห้องพักซึ่งอยู่ติดกับพระครูปลัดสัมพิพัฒน์-
ธุตาจารย์ (เฉลียว ฐิตปุญฺโญ) เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๗ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๒ ปีมะโรง
ช่วยงานเลขาฯ
เจ้าคณะภาค ๑๖
พ.ศ. ๒๕๐๗-๑๑ :
อายุ ๓๑-๓๕ ปี
แรกเริ่มที่เข้ามาอยู่วัดอรุณฯ พระครูอมรโฆสิต (สายหยุด) ทราบว่า ข้าพเจ้าพิมพ์ดีดได้และเคยทำงานแผนกเลขานุการมาก่อน จึงเรียกตัวมาช่วยงานพิมพ์เอกสารต่างๆ ที่ใช้ในงานประจำปีของวัด
ต่อมาผู้ทำหน้าที่ตำแหน่งเลขานุการ ของเจ้าคุณพระเทพมุนี (เจียร ปภสฺสโร) เจ้าคณะภาค ๑๖ (หนใต้) ได้หยุดพักงาน เจ้าคุณพระเทพมุนีจึงให้ข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่แทนได้ติดตามท่านเดินทางไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช เป็นประจำ ทำให้ได้เรียนรู้งานระดับภาคพอสมควร
ข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่เลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๖ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ ถึงปีพุทธศักราช ๒๕๑๑ รวม ๕ ปี
ไปอยู่กับพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี)
พ.ศ. ๒๕๑๑ : อายุ ๓๕ ปี
ต่อมา ในเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๑ พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี) ราชบัณฑิต เจ้าคณะจังหวัดชลบุรี เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมโกศาจารย์ ได้มาพบข้าพเจ้าที่วัดอรุณราชวราราม เพื่อให้ไปเป็นเลขานุการ และเป็นครูสอนวิชาสามัญศึกษา
ชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนที่วัดจัดตั้ง
ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าได้เคยรับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์หลายครั้ง ตั้งแต่สมัยที่ข้าพเจ้าเป็นเลขาฯ เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี และหลวงพ่อเป็นหัวหน้าพระธรรม-ทูตสายกาญจนบุรี เมื่อไปตรวจงานจึงได้พบกัน หลวงพ่อเคยปรารภกับข้าพเจ้าว่า “ถ้าไม่มีเลขาฯ จะรับท่านเอี่ยมไปเป็นเลขา”
หลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์ให้ข้าพเจ้าพาเข้าพบเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิตญาโณ) พร้อมยื่นหนังสือขอตัวข้าพเจ้าไปช่วยปฏิบัติงาน
เจ้าประคุณสมเด็จฯ อนุมัติ ข้าพเจ้าจึงได้ย้ายจากวัดอรุณราชวรารามไปอยู่วัดราษฎร์-บำรุง ตำบลมะขามหย่ง อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๑ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก
พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี)
เจ้าคณะจังหวัดชลบุรี
เมื่อไปอยู่ชลบุรีใหม่ๆ ยังไม่รู้จักพระสังฆาธิการ หลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์ท่านพยายามแนะนำให้รู้จักเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาสทุกวัด กระทั่งรู้จักมักคุ้นเกือบ
ทั้งจังหวัด การทำงานจึงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
กำเนิด”มนต์พิธี”
พ.ศ. ๒๕๑๓ : อายุ ๓๗ ปี
ปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ พระเสวย พุทฺธเทโว (พรหมโชติ) เป็นพระบวชใหม่มีความสนใจในการสวดมนต์เป็นอย่างมาก และอยากจะได้หนังสือสวดมนต์มาศึกษา ข้าพเจ้าในฐานะเลขาของพระอุปัชฌาย์จึงหาซื้อมาให้หลายเล่ม แต่ไม่มีเล่มใดถูกใจท่าน จึงอยากให้ข้าพเจ้าช่วยทำหนังสือสวดมนต์ขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง คัดเอาเฉพาะบทสวดที่จำเป็นต้องใช้ และพิมพ์ตัวหนังสือแบบอ่านง่ายๆ จัดพิมพ์จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม ถวายพระทุกวัดในจังหวัดชลบุรี โดยจะรับเป็นเจ้าภาพค่าจัดพิมพ์ให้
ข้าพเจ้าแนะนำให้พระเสวยนำเรื่องนี้กราบเรียนหลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์ก่อน ซึ่งหลวงพ่อท่านเห็นด้วย และเรียกข้าพเจ้าเข้าพบบัญชาให้ทำต้นฉบับหนังสือสวดมนต์ในทันที ข้าพเจ้ารับบัญชาด้วยความยินดี
พิมพ์หนังสือมนต์พิธี
ครั้งแรก
แจกทั่วจังหวัดชลบุรี
จากนั้น ข้าพเจ้าจึงได้รวบรวมหนังสือสวดมนต์หลายๆ ฉบับมา แล้วคัดเลือกบทสวดเฉพาะที่ใช้สวดกันจริงๆ นำมาจัดหมวดหมู่และเรียงบทตามลำดับที่ใช้สวดจริง โดยแยกเป็นบททำวัตรเช้า-เย็น บทเจริญพระพุทธมนต์ บทสวดงานศพ รวมถึงคำที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ อาทิ คำถวายทาน คำอาราธนาศีล คำปวารณาเข้าพรรษา-ออกพรรษา เป็นต้น
เมื่อได้ครบแล้วจึงจัดพิมพ์เป็นต้นฉบับ ตั้งชื่อหนังสือว่า “สวดมนต์และศาสนพิธี” ตรวจทานความถูกต้องจนแน่ใจว่าไม่มีอะไร
ผิดพลาดแล้วจึงส่งเข้าโรงพิมพ์ พิมพ์จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม โดยมี พระเสวย พุทฺธเวโท (พรหมโชติ) กับ นางถมยา ศิลาอาสน์ บ้านสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รับเป็นเจ้าภาพค่าจัดพิมพ์
หนังสือมนต์พิธีเล่มแรกของโลก
หลังจากส่งโรงพิมพ์ประมาณ ๑ เดือน หนังสือจึงเสร็จเป็นรูปเล่มออกมา นำไปแจกวัดต่างๆ ทั่วจังหวัดชลบุรี เป็นที่ชื่นชอบของพระภิกษุสามเณรผู้ได้รับแจกเป็นอย่างมาก
หนังสือมนต์พิธีดังไปทั่วโลก
พ.ศ. ๒๕๑๔-๑๗ :
อายุ ๓๘-๔๑ ปี
หลังจากหนังสือ “สวดมนต์และศาสนพิธี” ได้ถูกเผยแผ่ออกไปตามวัดต่างๆ ปรากฏว่า เมื่อใกล้เข้าพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ เจ้าอาวาสวัดต่างๆ เกือบทั้งจังหวัดชลบุรีแห่กันมาขอหนังสือสวดมนต์เป็นจำนวนมาก แต่หนังสือหมดไม่มีหนังสือให้ จะพิมพ์แจกก็ไม่มีทุน จึงให้วัดต่างๆ สั่งจอง ครั้งนี้มียอดสั่งจองกว่า ๒,๐๐๐ เล่ม พิมพ์ออกมาเป็นครั้งที่ ๒ จำนวน ๒,๐๐๐ เล่ม เท่าจำนวนที่สั่งจอง แล้วจัดส่งให้วัดตามจำนวนที่สั่งจองไว้ หนังสือก็หมดเกลี้ยง
ใกล้เข้าพรรษาปีต่อมา พุทธศักราช ๒๕๑๕ แห่กันเข้ามาอีก แต่คราวนี้ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดชลบุรีเท่านั้น ลามไปถึงระยอง ฉะเชิง-เทรา ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ติดกัน ข้าพเจ้าจึงกราบเรียนหลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์ขออนุญาตพิมพ์จำหน่าย และขอให้ท่านเขียนคำนำให้ ซึ่งท่านได้อนุญาตและเมตตาเขียนคำนำให้ พร้อมลายเซ็น ซึ่งมีความหมาย ทรงคุณค่า และเป็นศักดิ์ศรีเป็นสิริมงคลแก่ข้าพเจ้าและหนังสือมนต์พิธีมาจนกระทั่งบัดนี้
ในการจัดพิมพ์ครั้งที่ ๓ นี้ ข้าพเจ้าได้ย่อชื่อจาก “สวดมนต์และศาสนพิธี” เป็น “มนต์พิธี” และได้จัดพิมพ์เผยแผ่ติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๕๐ กว่าปี กลายเป็นหนังสือสวดมนต์ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ขอกลับวัดอรุณฯ
พ.ศ. ๒๕๑๘-๑๙ :
อายุ ๔๒-๔๓ ปี
ข้าพเจ้ามาอยู่กับหลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์ ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดชลบุรีเป็นเวลา ๖ ปีกับ ๗ เดือน (พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๘) ต่อมาวันที่ ๒๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๘ ได้ขอกราบอนุญาต
หลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์ย้ายกลับมาอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ ตามเดิม โดยได้มอบหน้าที่เลขาฯ ให้พระมหาสมใจรับช่วงต่อ ซึ่งหลวงพ่อฯ ท่านอนุญาต
กลับมาอยู่วัดอรุณฯ คราวนี้ เจ้าคุณพระธรรมคุณาภรณ์ (เจียร ปภสฺสโร) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ขณะนั้นให้ไปอยู่คณะ ๓ กับหลวงปู่ปั่น พร้อมกับสามเณรที่ติดตามมาจากชลบุรีอีก ๗ รูป
หวนคืนชลบุรีอีกครั้ง
พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๒ :
อายุ ๔๔-๔๖ ปี
ข้าพเจ้ากลับมาอยู่วัดอรุณฯ ได้ยังไม่ถึง ๒ ปี หลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดชลบุรี ได้เรียกตัวกลับไปช่วยงานที่ชลบุรีอีกครั้ง เนื่องจากพระมหาใจที่เป็นเลขาฯ ได้ลาสิกขาไป
ข้าพเจ้าจึงจำต้องย้ายกลับมาที่ชลบุรี อยู่ที่วัดราษฎร์บำรุงอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๐ ในการกลับมาคราวนี้ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราษฎร์บำรุง และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลหนองเหียง อำเภอพนัสนิคม รับ ๒ ตำแหน่งควบคู่กัน
กลับสู่วัดอรุณฯ อย่างถาวร
พ.ศ. ๒๕๒๓ : อายุ ๔๗ ปี
ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่ที่ชลบุรีได้ ๒ ปี เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้วจึงขอกราบลาหลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) กลับมาประจำอยู่ที่วัดอรุณราชวรารามอีกครั้ง ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ จนถึงปัจจุบัน
ปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ ข้าพเจ้าได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราช (องค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ในวันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘
ในปีต่อมาพุทธศักราช ๒๕๒๙ หลวงพ่อพระเทพศีลวิสุทธิ์ (บุญเลิศ โฆสโก) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เจ้าคณะบางกอกใหญ่ ได้ส่งข้าพเจ้าไปเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสที่วัดประดู่ในทรงธรรม ท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙ ถึงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ เป็นเวลา ๑ ปี
ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์
เป็น “พระครูอรุณธรรมรังษี”
พ.ศ. ๒๕๓๔-๔๙ :
อายุ ๔๗-๗๓ ปี
ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ ข้าพเจ้าได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญา-บัตรชั้นโท ที่ พระครูอรุณธรรมรังษีี เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๔
และต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙
มอบลิขสิทธิ์หนังสือมนต์พิธีให้สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียงฯ สานต่อ
หนังสือมนต์พิธีที่ข้าพเจ้ารวบรวมเรียบเรียง และพิมพ์แจกตามวัดต่างๆ ในจังหวัดชลบุรี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ และได้จัดพิมพ์จำหน่ายอย่างเป็นทางการเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ นับตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้เป็นเวลากว่า ๕๐ ปี หนังสือมนต์พิธีก็ยังเป็นที่นิยมและเป็นที่ต้องการของพระภิกษุสามเณร และประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง
ข้าพเจ้ามีความคิดมุ่งหมายมาตั้งแต่ต้นว่าอยากจะให้หนังสือ “มนต์พิธี” ที่ข้าพเจ้าเรียบเรียงนี้อยู่คู่กับพระศาสนาและแผ่ขยายออกไปทั่วโลก แต่ด้วยพละกำลังและแรงทุนทรัพย์ของข้าพเจ้าเห็นทีจะทำไม่สำเร็จ จึงนึกอยากจะมอบหนังสือเล่มนี้ให้กับองค์กรที่ทำงานผลิตหนังสือสื่อธรรมะทางพระพุทธศาสนามาช่วยสานต่องานที่ข้าพเจ้าตั้งปรารถนาไว้คุณสุขพัฒน์เกษม จงพิพัฒน์ยิ่ง
เข้ากราบนมัสการหลวงปู่เอี่ยม
เหมือนบุญจัดสรร ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้มีตัวแทนจาก บริษัท สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ จำกัด คือ คุณสุข-พัฒน์เกษม จงพิพัฒน์ยิ่ง และคุณมังกร (เสน่ห์) แก้วนิล ได้ขอเข้าพบข้าพเจ้าที่
วัดอรุณฯ เพื่อติดต่อขอลิขสิทธิ์หนังสือ “มนต์พิธี” ไปจัดพิมพ์เผยแผ่ ซึ่งข้าพเจ้ามีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างมาก เพราะได้ทราบมาแต่ก่อนแล้วว่า สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียงฯ นี้ เป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือเรียนนักธรรม-ธรรมศึกษา หนังสือเรียนบาลี และหนังสือธรรมะ หนังสือสวดมนต์มานานอายุ ๑๐๐ กว่าปี (จาก พ.ศ. ๒๔๕๙ ถึงปัจจุบัน)
ดังนั้น ในวันที่ ๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ข้าพเจ้าจึงได้เซ็นมอบลิขสิทธิ์หนังสือ “มนต์พิธี และหนังสืออื่นๆ” ที่ข้าพเจ้ารวบรวมเรียบเรียงไว้ ให้กับ “นายมณฑณ์จิตต์เกษม จงพิพัฒน์ยิ่ง” ผู้อำนวยการ บริษัท สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ จำกัด และทายาท ให้เป็นผู้ดูแลจัดพิมพ์เผยแผ่หนังสือมนต์พิธีและหนังสือเล่มอื่นๆ ที่ข้าพเจ้าเรียบเรียงขึ้นแต่เพียงผู้เดียวตลอดไป
นับเป็นเกียรติประวัติของ
บริษัท สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ จำกัด
พร้อมบริษัทในเครือ ทายาทตระกูลจงพิพัฒน์ยิ่ง ผู้บริหาร พนักงาน
ที่หลวงปู่เมตตาไว้วางใจให้สานต่องานเผยแผ่หนังสือมนต์พิธี
ให้อยู่คู่พระศาสนาสืบไป
รวบรวมเรียบเรียงโดย
ศักดิ์สิทธิ์ พันธ์สัตย์
บรรณาธิการแห่งสำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง