บทสวด 7 ตำนาน 12 ตำนาน และความเป็นมา
บทสวดมนต์ 7 ตำนาน 12 ตำนาน มีที่มาอย่างไร มีบทใดบ้าง แต่ละบทมีประวัติย่อ และใจความสำคัญของบทสวด พร้อมอานุภาพป้องกันอะไรบ้าง ?
ประวัติบทสวดมนต์
บทสวดมนต์ในทางพระพุทธศาสนาที่ใช้สวดกันอยู่ในปัจจุบัน จำแนกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑) บทสวดที่เป็นหลักคำสอน เพื่อศึกษาและนำไปปฏิบัติให้เกิดผลในการดับทุกข์ อาทิ มงคลสูตร ธัมมจักกัปวัตตนสูตร เป็นต้น
๒) บทสวดเพื่อให้เกิดฤทธิ์ปาฏิหาริย์ในการป้องกันภัย อาทิ รตนปริตร ขันธปริตร อาฏานาฏิยปริตร กรณียเมตตสูตรหรือเมตตปริตร เป็นต้น
บทสวดที่มีอานุภาพในการป้องกันภัยนั้น
บางบทเป็นบทที่พระพุทธองค์ประทานให้ด้วยพระองค์เอง เช่น รตนปริตรทรงประทานให้พระอานนท์สวดทำน้ำมนต์ประพรมทั่วเมืองภัยไพศาลี เพื่อขจัดภัยพิบัติที่เกิด หรือกรณียเมตตสูตร ที่ทรงประทานให้ภิกษุกลุ่มหนึ่งสวดให้เทวดาที่มาหลอกหลอนให้กลับเป็นมิตร
บางบทเป็นบทสวดที่พระองค์เคยใช้สวดป้องกันภัยเมื่อครั้งอดีตที่เป็นพระโพธิสัตว์ เช่น ขันธปริตร โมรปริตร หรือวัฏฏกปริตร เป็นต้น
บางบทสวดเป็นบทที่แต่งขึ้นใหม่ภายหลังก็มี เช่น บทพาหุงมหากา คาถาชินบัญชร โพชฌังคปริตร อภยปริตร เป็นต้น
บทสวดที่พระสงฆ์ใช้สวดเจริญพระพุทธมนต์ในปัจจุบัน เกิดจากพระเถระชาวลังกาได้คัดเอาพระสูตรในพระไตรปิฎกบางสูตรที่มีอานุภาพในการป้องกันภัย มาวางเป็นรูปแบบในการสวดเจริญพระพุทธมนต์ เรียกว่า การสวดพระปริตร
คำว่า ปริตร มาจากคำบาลีว่า ปริตฺต (ปริ+ตาณ) เขียบแบบสันสกฤตว่า ปริตฺตราณ แปลว่า ต้านทาน หรือ ป้องกันภัยอันตราย
พระปริตรที่พระเถระชาวลังกาคัดมานั้น แบ่งเป็น ๒ หมวด คือ
๑) หมวดที่เรียกว่า “จุลราชปริตร” (พระราชปริตรน้อย) ประกอบด้วยบทสวด ๗ บท หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “๗ ตำนาน”
๒) หมวดที่เรียกว่า “มหาราชปริตร” (พระราชปริตรใหญ่) ประกอบด้วยบทสวด ๑๒ บท หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “๑๒ ตำนาน”
คำว่า ตำนาน เดิมเขียนว่า ตำนาณ มาจากคำบาลีว่า ตาณ ที่แปล ต้านทาน
มาถึงตรงนี้ มีคำที่ควรทำความเข้าใจอยู่ ๓ คำ คือ คำว่า สูตร ปริตร ตำนาน
คำว่า สูตร เป็นคำที่ใช้ในพระไตรปิฎก เช่น มงคลสูตร รตนสูตร กรณียเมตตสูตร เป็นต้น และให้เรียกบทสวดที่มีเป็นแนวหลักธรรมคำสอน ไม่ใช่บทสวดแนวให้เกิดฤทธิ์ป้องกันภัย
คำว่า ปริตร ใช้เรียกพระสูตรที่คัดจากพระไตรปิฎก แล้วนำมาสวดในงานมงคลต่างๆ โดยพระเถระชาวลังกา
คำว่า ตำนาน หรือ ตำนาณ เป็นคำไทยใช้เรียกบทสวดพระปริตร ที่พระเถระชาวลังกาจัดไว้ว่า ๗ ตำนาน (จุลราชปริตร) ๑๒ ตำนาน (มหาราชปริตร)
บทสวดมนต์ 7 ตำนาน จึงหมายถึง บทสวด 7 บทที่มีอานุภาพต้านทานภัยอันตรายต่างๆ 7 ประการ เช่น ภัยไฟไหม้ ภัยจากงูพิษ ภัยจากภูตผีปีศาจ เป็นต้น
7 ตำนาน มีบทสวดดังนี้
เจ็ดตำนาน (จุลราชปริตร) มี ๗ ปริตร คือ
๑. มังคลปริตร ๒. รัตนปริตร ๓. เมตตปริตร ๔. ขันธปริตร
๕. โมรปริตร ๖. ธชัคคปริตร ๗. อาฏานาฏิยปริตร
12 ตำนาน มีบทสวดดังนี้
สิบสองตำนาน (มหาราชปริตร) มี ๑๒ ปริตร คือ
๑. มังคลปริตร ๒. รัตนปริตร ๓. เมตตปริตร ๔. ขันธปริตร
๕. โมรปริตร ๖. วิฏฏกปริตร ๗. ธชัคคปริตร ๘. อาฏานาฏิยปริตร
๙. อังคุลิมาลปริตร ๑๐. โพชฌังคปริตร ๑๑. อภยปริตร ๑๒. ชัยปริตร
บทสวดมนต์ ๑๒ ตำนาน
บทสวดมนต์ที่เป็นเครื่องป้องกันภัย ๑๒ บท มีอานุภาพ และเรื่องย่อ ดังต่อไปนี้
๑. มังคลปริตร (มงคลสูตร) เครื่องป้องกันที่ 1
>> คลิกที่นี่ เพื่อดูบทสวดมงคลสูตร >>
อานุภาพป้องกัน : ให้เกิดสิริมงคลแก่ชีวิต พระครูปิยธรรมวิเทศ (ปสัณห์ ปิยธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดพระมหาชนก บ้านพลังเพียร รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา แนะนำว่าบทมงคลสูตรให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์สวดเป็นประจำ จะส่งผลทำให้บุตรที่อยู่ในครรภ์ เป็นเด็กที่มีสติปัญญาดี ว่านอนสอนง่าย ฉลาด มีสมาธิเป็นเลิศ รู้จักกตัญญูกตเวที เป็นอภิชาตบุตร
ใจความสำคัญของบทสวด : เนื้อหากล่าวถึงมงคลชีวิต 38 ประการ คือ
๑. การไม่คบคนพาล
๒. การคบบัณฑิต
๓. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
๔. การอยู่ในถิ่นอันสมควร
๕. การได้ทำบุญไว้ในปางก่อน
๖. การตั้งตนชอบ
๗. การได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก
๘. การรอบรู้ในศิลปะ
๙. ความมีวินัยที่ดี
๑๐. การมีวาจาเป็นสุภาษิต
๑๑. การบำรุงบิดามารดา
๑๒. การสงเคราะห์บุตร
๑๓. การสงเคราะห์ภรรยา
๑๔. การทำงานไม่ให้คั่งค้าง
๑๕. การรู้จักให้
๑๖. การประพฤติธรรม
๑๗. การสงเคราะห์ญาติ
๑๘. การทำงานที่ไม่มีโทษ
๑๙. การละเว้นจากบาป
๒๐. การไม่ดื่มน้ำเมา
๒๑. ความไม่ประมาทในธรรม
๒๒. การให้ความเคารพผู้อื่น
๒๓. ความอ่อนน้อมถ่อมตน
๒๔. ความสันโดษ
๒๕. ความกตัญญู
๒๖. การฟังธรรมตามกาล
๒๗. ความอดทน
๒๘. ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย
๒๙. การได้เห็นสมณะ
๓๐. การสนทนาธรรมตามกาล
๓๑. การบำเพ็ญตบะ
๓๒. การประพฤติพรหมจรรย์
๓๓. การเห็นอริยสัจ
๓๔. การทำให้แจ้งพระนิพพาน
๓๕. ความมีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
๓๖. ความมีจิตไม่เศร้าโศก
๓๗. ความมีจิตปราศจากธุลี คือกิเลส
๓๘. ความมีจิตเกษม
เรื่องย่อพระสูตร : ก่อนที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก มีปัญหาเกิดขึ้นในหมู่มนุษย์และเทวดาว่า อะไรเป็นมงคลในโลก กลายเป็นข้อถกเถียงที่หาบทสรุปไม่ได้นานถึง ๑๒ ปี ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นและทรงตรัสรู้ ท้าวสักกะได้มอบหมายให้เทวดาตนหนึ่งเข้าทูลถามปัญหาว่า อะไรเป็นมงคล พระพุทธองค์ทรงแสดงสิ่งที่เป็นมงคลว่ามีทั้งหมด ๓๘ ประการ
๒. รัตนปริตร (รตนสูตร) เครื่องป้องกันที่ 2
>> คลิกที่นี่ เพื่อดูบทสวดรตนสูตร >>
อานุภาพของบทสวดนี้ : ขจัดภัยพิบัติอันเกิดจากโรคระบาด ภูตผีปีศาจ และความอดอยาก
ใจความสำคัญของบทสวด : เป็นบทสวดเชิญชวนให้ภูตและเทวดาทั้งหลายมาร่วมฟังคำสดุดีพระรัตนตรัย เพื่อให้จิตเลื่อมใสมีความเมตตา เลิกเบียดเบียนมนุษย์ และรักษาคุ้มครองให้อยู่เป็นสุขทุกเมื่อ
เรื่องย่อที่มาของบทสวด : สมัยหนึ่ง เกิดภัยพิบัติและโรคระบาดขึ้นที่เมืองเวสาลี มีสัตว์และผู้คนล้มตายเป็นอันมาก กลิ่นซากศพเหม็นคลุ้งไปทั่วเมือง เจ้าลิจฉวีได้กราบทูลเชิญพระพุทธเจ้ามาเพื่อบรรเทาทุกข์แก่ชาวเมือง พระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงอาณาเขตเมืองเวสาลี เพียงย่างพระบาทแตะแผ่นดิน ฝนที่ไม่เคยตกมาหลายปีก็กระหน่ำตกลงมาพัดพาเอาซากศพและสิ่งปฏิกูลทั้งหลายลงทะเล พระพุทธเจ้าทรงให้พระอานนท์เรียนเอามนต์ คือ รตนสูตร สวดทำน้ำมนต์ประพรมไปทั่วเมืองขับไล่ภูตผีปีศาจร้ายให้หนีไป ขจัดโรคภัยไข้เจ็บให้หมดสิ้น คืนความปกติสุขสู่เมืองเวสาลีอีกครั้ง
๓. เมตตปริตร (เมตตสูตร) เครื่องป้องกันที่ 3
>> คลิกที่นี่ เพื่อดูบทสวดกรณียเมตตสูตร >>
อานุภาพของบทสวดนี้ : ทำให้เป็นที่รักของเทวดา มนุษย์ อมนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ใจความสำคัญของบทสวด : พูดถึงหลักปฏิบัติเพื่อสร้างมหาเสน่ห์ ๑๖ ประการ คือ ๑. องอาจกล้าหาญ ๒. ซื่อตรงจริงใจ ๓. เคร่งครัดมีวินัย ๔. ว่าง่ายสอนง่าย เปิดใจรับฟังผู้อื่น ๕. อ่อนน้อมถ่อมตน ๖. ไม่เย่อหยิ่ง ยกตนข่มท่าน ๗. สันโดษ พอใจสิ่งที่มีตามฐานะ ความสามารถ ๘. กินง่ายอยู่ง่ายไม่เรื่องมาก ๙. ไม่วุ่นวายเรื่องคนอื่น ๑๐. ไม่ทำตัวเป็นที่หนักใจแก่ผู้อื่น ๑๑. สำรวม รู้จักวางตัวให้เหมาะสม ๑๒. รู้จักเสียสละ ละความเห็นแก่ตัว ๑๓. ไม่คะนองเกินงาม ๑๔. มีความเกรงใจ ไม่ถือวิสาสะเกินควร ๑๕. ไม่ทำสิ่งที่น่าติเตียน ๑๖. มีเมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นมีสุข
เรื่องย่อที่มาของบทสวด : สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี มีภิกษุกลุ่มหนึ่งได้ไปปฏิบัติธรรมที่ราวป่าหิมวันต์ถูกเทวดาเจ้าถิ่นกลั่นแกล้งด้วยการแปลงกายเป็นผีมาหลอกหลอน เพราะไม่อยากให้อยู่ในถิ่นของตน ภิกษุกลุ่มนั้นทนอยู่ไม่ได้จึงหนีกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงประทานมนต์คาถาบทหนึ่งชื่อ เมตตสูตร ให้แก่ภิกษุเหล่านั้นแล้วทรงให้กลับไปปฏิบัติธรรมที่เดิม โดยทรงกำชับให้ภิกษุสวดมนต์บทนี้เมื่อไปถึงราวป่า และให้สวดมนต์บทนี้ทุกวันเช้าเย็น เมื่อภิกษุเหล่านั้นปฏิบัติตามที่ทรงแนะนำ เทวดาทั้งหลายที่เคยรังเกียจต่างก็มีใจรัก พากันออกมาปรนนิบัติรับใช้จนตลอดพรรษา ภิกษุเมื่อได้รับการปรนนิบัติดี การปฏิบัติธรรมก็มีความก้าวหน้าได้บรรลุพระอรหันต์ทั้งหมด
๔. ขันธปริตร เครื่องป้องกันที่ 4
>> คลิกที่นี่ เพื่อดูบทสวดขันธปริตร >>
อานุภาพของบทสวดนี้ : ป้องกันภัยจากสัตว์มีพิษต่างๆ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง รวมถึงยาพิษจากผู้คิดร้าย
ใจความสำคัญของบทสวด : สวดแผ่เมตตาให้กับพญางู ๔ ตระกูล ได้แก่ ตระกูลสีเขียว สีทอง สีดำ และสีรุ้ง รวมถึงสัตว์ที่ไม่มีเท้า, สัตว์ ๒ เท้า, ๔ เท้า และสัตว์ที่มีเท้ามาก ขอให้สัตว์ทั้งหลาย จงมีเมตตาอย่าทำอันตรายเรา ผู้ซึ่งมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ที่ทรงคุณอันยิ่งใหญ่คุ้มครองอยู่
เรื่องย่อที่มาของบทสวด : สมัยหนึ่ง ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัดมรณภาพ พระพุทธองค์ทรงทราบจึงตรัสให้ภิกษุทั้งหลายเรียนเอามนต์ป้องกันอสรพิษที่พระองค์เคยสอนแก่ศิษย์เมื่อครั้งเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์
๕. โมรปริตร เครื่องป้องกันที่ 5
>> คลิกที่นี่ เพื่อดูบทสวดโมรปริตร >>
อานุภาพของบทสวดนี้ : เป็นบทสวดของพญานกยูงโพธิสัตว์ สวดภาวนาก่อนออกหากินและก่อนเข้านอน มีอานุภาพให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายทั้งหลายทั้งปวง
ใจความสำคัญของบทสวด : เป็นบทสวดแสดงความนอบน้อมต่อดวงอาทิตย์ พราหมณ์ผู้ไม่มีบาป พระพุทธเจ้าพระโพธิญาณ ตลอดถึงพระอรหันต์ผู้รู้แจ้งพระโพธิญาณ เพื่อขอให้รักษาคุ้มครองตนทั้งกลางวันกลางคืน
เรื่องย่อที่มาของบทสวด : สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ภิกษุรูปหนึ่งถูกความอยากในกามครอบงำ กระสันอยากสึก พระพุทธเจ้าต้องการให้เห็นโทษของกามจึงทรงเล่าเรื่องอดีตเมื่อครั้งพระองค์เสวยชาติเป็นพญานกยูงพระโพธิสัตว์ ทุกวันก่อนออกหากิน และก่อนเข้านอนจะสวดมนต์โมรปริตรเป็นประจำ ทำให้พ้นจากการตามล่าของพรานป่านานถึง ๑๒ ปี วันหนึ่งพรานนำนางนกยูงมาล่อ ด้วยความหลงมัวเมาในกามทำให้พญานกยูงลืมท่องคาถาและถูกพรานจับได้
๖. วัฏฏกปริตร เครื่องป้องกันที่ 6
>> คลิกที่นี่ เพื่อดูบทสวดวัฏฏกปริตร >>
อานุภาพของบทสวดนี้ : ป้องกันไม่ให้เกิดอัคคีภัย และดับไฟที่กำลังลุกลามไม่ให้มาถึงตัว
ใจความสำคัญของบทสวด : เป็นบทสวดว่าด้วยคำสัตยาธิษฐานของลูกนกคุ่มโพธิสัตว์ เพื่อคุ้มครองตนให้พ้นอันตรายจากไฟป่าที่กำลังลุกลามมาถึงตัว ด้วยการอ้างถึงความจริง ๔ อย่างคือ ๑) คุณแห่งศีล ความสัตย์ ความหมดจด และความเอ็นดู มีอยู่จริงในโลก ๒) ตนระลึกถึงกำลังแห่งธรรมและพระชินเจ้าทั้งหลายจริง ๓) ปีกและขาของตนมีแต่บินไม่ได้และเดินไม่ได้จริง ๔) พ่อกับแม่ออกไปหากินยังไม่กลับมาจริง ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ขอไฟจงหลีกไป
เรื่องย่อที่มาของบทสวด : เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นลูกนกคุ่มนอนอยู่ในรัง วันหนึ่ง พ่อแม่ออกไปหาอาหาร เกิดไฟป่าลุกลามเข้ามาใกล้จะถึงรัง ลูกนกคุ่มมองไม่เห็นที่พึ่งอย่างอื่น จึงทำสัตยาธิษฐานว่า “ศีล สัจจะ ความหมดจด ความเอ็นดู เป็นธรรมที่มีคุณจริง ข้าพเจ้าขอน้อมเอาอานุภาพแห่งธรรม อานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ปีกและขาก็มีอยู่ แต่ยังบินไม่ได้เดินไม่ได้ พ่อแม่ก็ไม่อยู่ ด้วยอานุภาพแห่งคำสัตย์ทั้งหมดนี้ ขอให้เปลวเพลิงจงหลีกไป” เมื่อทำสัตยาธิษฐานจบ เปลวไฟได้เปลี่ยนทิศไปทางอื่นห่างออกไป ๑๖ กรีส (กรีส อ่านว่า “กะหฺรีด” เป็นชื่อมาตราวัดพื้นที่สมัยโบราณ ๑๖ กรีส = ประมาณ ๑.๒๔ กิโลเมตร)
๗. ธชัคคปริตร (ธชัคคสูตร) เครื่องป้องกันที่ 7
>> คลิกที่นี่ เพื่อดูบทสวดธชัคคปริตร >>
อานุภาพของบทสวดนี้ : ถือเป็นที่สุดของพุทธมนต์ทั้งหมด มีการนำไปดัดแปลงเป็นมนต์คาถาและลงอักขระในยันต์ต่างๆ มากมาย มีอานุภาพ ๑๐๘ ประการ
ใจความสำคัญของบทสวด : เป็นบทสวดสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า ๙ ประการ คุณของพระธรรม ๖ ประการ และคุณของพระสงฆ์ ๙ ประการ
เรื่องย่อที่มาของบทสวด : สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงตรัสเล่าถึงท้าวสักกเทวราชประกาศให้เหล่าเทพมองดูยอดธงบนราชรถของพระองค์ เพื่อปลุกปลอบใจเหล่าทหารเทพที่เกิดความหวาดหวั่นให้เกิดความฮึกเหิม ในการทำสงครามระหว่างเทพและอสูร แล้วตรัสแก่ภิกษุว่า หากว่าเธอทั้งหลายไปปฏิบัติธรรมในที่หลีกเร้นแล้วเกิดความหวาดหวั่น ก็พึงให้ระลึกพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ที่เป็นดุจยอดธงแห่งศาสนาเถิด ความหวาดกลัวทั้งหลายจักหายไป
๘. อาฏานาฏิยปริตร เครื่องป้องกันที่ 8
>> คลิกที่นี่ เพื่อดูบทสวดอาฏานาฏิยปริตร >>
อานุภาพของบทสวดนี้ : ป้องกันภัยจากภูตผีปีศาจ ยักษ์ และวิญญาณร้าย ตลอดถึงคุณไสยต่างๆ
ใจความสำคัญของบทสวด : เป็นบทสวดที่ท้าวเวสสุวัณแต่งขึ้นทูลถวายพระพุทธเจ้า เพื่อประทานให้เหล่าภิกษุสวดคุ้มครองตนจากยักษ์ ภูตผีปีศาจ และเหล่าอมนุษย์ทั้งหลาย ปัจจุบันนิยมนำมาสวดขับไล่เสนียดจัญไรและอำนาจคุณไสย โดยจัดเป็นพิธีกรรมใหญ่โต เรียกว่า “สวดภาณยักษ์”**
เรื่องย่อที่มาของบทสวด : สมัยหนึ่ง ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ซึ่งมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พากันดำริว่า เหล่าอมนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ภายใต้การปกครอง มีทั้งดีและไม่ดี พวกที่ไม่ดีไม่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยอาจจะเบียดเบียนทำร้ายพระภิกษุที่ปลีกตัวไปปฏิบัติธรรมในป่าเขาได้ จึงพากันไปที่อาฏานาฏิยนคร ณ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา แต่งบทสวดเพื่อใช้เป็นมนต์คุ้มภัยจากเหล่าอมนุษย์แล้วนำมาทูลเกล้าถวายพระพุทธเจ้าเพื่อประทานแก่ภิกษุต่อไป
๙. อังคุลิมาลปริตร เครื่องป้องกันที่ 9
>> คลิกที่นี่ เพื่อดูบทสวดอังคุลิมาลปริตร >>
อานุภาพของบทสวดนี้ : ให้หญิงกำลังตั้งครรภ์สวดมีอานุภาพคุ้มครองลูกในครรภ์ให้ปลอดภัย ไม่แท้ง สวดทำน้ำมนต์ให้สตรีกำลังให้คลอดดื่มมีอานุภาพทำให้คลอดลูกง่าย ภาวนาเสกหญ้าอาหารให้สัตว์ที่ตั้งท้องกิน จะทำให้ลูกปลอดภัย ไม่แท้ง และตกลูกง่าย
ใจความสำคัญของบทสวด : มีคำแปลว่า “ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่อาตมาถือกำเนิดโดยชาติอริยะแล้ว (บวชในพุทธศาสนาของพระอริยเจ้า) ไม่เคยจงใจฆ่าสัตว์ตัดชีวิตใดๆ เลย ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่เธอ ขอความสวัสดีจงมีแก่บุตรในครรภ์ของเธอ” เป็นสัตยาธิษฐานของพระองคุลิมาลกล่าวเพื่อช่วยเหลือหญิงท้องแก่คนหนึ่ง
เรื่องย่อที่มาของบทสวด :พระองคุลิมาลเดิมชื่อว่า อหิงสกะ เป็นบุตรของพราหมณ์ปุโรหิต ในแคว้นโกศล ถูกอาจารย์หลอกให้ฆ่าคนหนึ่งพันคนเพื่อเป็นเครื่องสังเวยในการเรียนวิษณุมนต์ อหิงสกะฆ่าคนไป ๙๙๙ คนแล้วตัดนิ้วมือมาร้อยเป็นมาลัย จนได้รับฉายาว่า จอมโจรองคุลิมาล (โจรมาลัยนิ้วมือ) ภายหลังได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าและออกบวช วันหนึ่ง ขณะที่ออกบิณฑบาต หญิงท้องแก่คนหนึ่งเห็นท่านและจำได้ว่าเป็นโจรองคุลิมาล ตกใจจะวิ่งหนี พอดีเกิดเจ็บครรภ์ขึ้นกะทันหันร้องโอดโอยด้วยความทรมาน พระองคุลิมาลเห็นดังนั้นจึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานตามที่กล่าวแล้วข้างต้น ด้วยแรงอธิษฐานทำให้หญิงคนนั้นคลอดลูกได้โดยง่าย
๑๐. โพชฌังคปริตร เครื่องป้องกันที่ 10
>> คลิกที่นี่ เพื่อดูบทสวดโพชฌังคปริตร >>
อานุภาพของบทสวดนี้ : ป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
ใจความสำคัญของบทสวด : เป็นบทสวดกล่าวอ้างถึงความจริง ๔ อย่างคือ ๑) ธรรม คือ โพชฌงค์ ๗ อันได้แก่ สติ (ความระลึกได้), ธัมมวิจยะ (การพิจารณา การเลือกเฟ้นธรรม), วิริยะ (ความเพียร, การลงมือทำอย่างต่อเนื่อง), ปีติ (ความอิ่มใจ), ปัสสัทธิ (ความสงบใจ), สมาธิ (ความตั้งมั่นแห่งใจ), และอุเบกขา (ความวางเฉยด้วยความเข้าใจ) ธรรมทั้ง ๗ นี้เป็นธรรมนำผู้ปฏิบัติให้ถึงพระนิพพานจริง ๒) คราวหนึ่งพระมหาโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะอาพาธหนัก พอได้ฟังโพชฌงค์ ๗ ก็หายจากอาการอาพาธจริง ๓) สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประชวร พระจุนทะสาธยายโพชฌงค์ ๗ ให้สดับ ก็ทรงหายประชวรจริง ๔) อาพาธของท่านทั้ง ๓ หายไปไม่กลับเป็นอีก ดุจกิเลสที่ละแล้วไม่กลับกำเริบอีกจริง ด้วยสัจจะความจริง ๔ ประการนี้ ขอความสวัสดีจงเกิดมีแก่ข้าพเจ้า
เรื่องย่อที่มาของบทสวด :เป็นบทสวดที่แต่งขึ้นใหม่โดยอาจารย์รุ่นหลัง โดยเก็บเอาเนื้อความจากพระสูตร ๓ สูตร ได้แก่ กัสสปโพชฌังคสูตร มหาโมคคัลลานโพชฌังคสูตร และจุนทโพชฌังคสูตร มาแต่งเป็นบทสวดสัตยาธิษฐาน เพื่อให้เกิดอานุภาพในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
๑๑. อภยปริตร เครื่องป้องกันที่ 11
>> คลิกที่นี่ เพื่อดูบทสวดอภยปริตร >>
อานุภาพของบทสวดนี้ : ขจัดเคราะห์ร้ายและสิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้สิ้นไป กลับร้ายให้กลายเป็นดี
ใจความสำคัญของบทสวด : เป็นบทสวดขอพลังแห่งพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ให้ช่วยขจัดภัยและสิ่งอัปมงคลทั้งหลายอันเกิดแต่ลางร้ายต่างๆ ให้สิ้นไป
เรื่องย่อที่มาของบทสวด : อภยปริตร นิยมเรียกว่า “คาถายันทุน” ยังไม่ได้พบหลักฐานที่มา สันนิษฐานว่าเป็นคาถาที่โบราณาจารย์ชาวเชียงใหม่ประพันธ์ขึ้นในสมัยเดียวกันกับที่รจนาพระคาถาชินบัญชร โดยสังเกตได้จากการตั้งจิตอธิษฐานให้บาปเคราะห์ นิมิตร้าย และสิ่งที่เป็นอัปมงคลพินาศไปด้วยอานุภาพของ
พระรัตนตรัย ให้มาช่วยพิทักษ์คุ้มครอง เมื่อมีลางร้าย ฝันไม่ดี ดวงชะตาตกต่ำ หรือเกิดสิ่งที่ไม่เป็นมงคลขึ้น
๑๒. ชัยปริตร เครื่องป้องกันที่ 12
>> คลิกที่นี่ เพื่อดูบทสวดอภยปริตร >>
อานุภาพของบทสวดนี้ : ให้บังเกิดชัยชนะ มีความสำเร็จในทุกเรื่อง ทำให้ประสบชัยชนะ และมีความสุขสวัสดี
ใจความสำคัญของบทสวด : บทสวดอวยชัยให้มีชัยชนะและประสบผลสำเร็จในการทำกิจมงคลทุกอย่างดุจพระพุทธเจ้าบรรลุผลสำเร็จจากการตรัสรู้ มีชัยเหนือกิเลสมาร ยังความปลื้มปีติให้บังเกิดมีแก่เหล่าเทวดา มนุษย์ และพระประยูรญาติ ฉะนั้น
บทความธรรมทานโดย
ศักดิ์สิทธิ์ พันธุ์สัทธ์
บรรณาธิการสำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง
หนังสือที่มีบทสวดมนต์ 7 ตำนาน 12 ตำนาน