บทสวดวัฏฏกปริตร
ใจความสำคัญ : เป็นบทสวดว่าด้วยคำสัตยาธิษฐานของลูกนกคุ่มโพธิสัตว์ เพื่อคุ้มครองตนให้พ้นอันตรายจากไฟป่าที่กำลังลุกลามมาถึงตัว ด้วยการอ้างถึงความจริง ๔ อย่างคือ ๑) คุณแห่งศีล ความสัตย์ ความหมดจด และความเอ็นดู มีอยู่จริงในโลก ๒) ตนระลึกถึงกำลังแห่งธรรมและพระชินเจ้าทั้งหลายจริง ๓) ปีกและขาของตนมีแต่บินไม่ได้และเดินไม่ได้จริง ๔) พ่อกับแม่ออกไปหากินยังไม่กลับมาจริง ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ขอไฟจงหลีกไป
อานุภาพ : ป้องกันไม่ให้เกิดอัคคีภัย และดับไฟที่กำลังลุกลามไม่ให้มาถึงตัว
บทสวดมนต์ วัฏฏกปริตร
คาถานกคุ่มโพธิสัตว์ ป้องกันไฟ
อัตถิ โลเก สีละคุโณ
สัจจัง โสเจยยะนุททะยา
เตนะ สัจเจนะ กาหามิ
สัจจะกิริยะมะนุตตะรัง
อาวัชชิต๎วา ธัมมะพะลัง
สะริต๎วา ปุพพะเก ชิเน
สัจจะพะละมะวัสสายะ
สัจจะกิริยะมะกาสะหัง
สันติ ปักขา อะปัตตะนา
สันติ ปาทา อะวัญจะนา
มาตา ปิตา จะ นิกขันตา
ชาตะเวทะ ปะฏิกกะมะ
สะหะ สัจเจ กะเต มัยหัง
มะหาปัชชะลิโต สิขี
วัชเชสิ โสฬะสะ กะรีสานิ
อุทะกัง ปัต๎วา ยะถา สิขี
สัจเจนะ เม สะโม นัตถิ
เอสา เม สัจจะปาระมีติ.
ประวัติ : เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นลูกนกคุ่มนอนอยู่ในรัง วันหนึ่ง พ่อแม่ออกไปหาอาหาร เกิดไฟป่าลุกลามเข้ามาใกล้จะถึงรัง ลูกนกคุ่มมองไม่เห็นที่พึ่งอย่างอื่น จึงทำสัตยาธิษฐานว่า “ศีล สัจจะ ความหมดจด ความเอ็นดู เป็นธรรมที่มีคุณจริง ข้าพเจ้าขอน้อมเอาอานุภาพแห่งธรรม อานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ปีกและขาก็มีอยู่ แต่ยังบินไม่ได้เดินไม่ได้ พ่อแม่ก็ไม่อยู่ ด้วยอานุภาพแห่งคำสัตย์ทั้งหมดนี้ ขอให้เปลวเพลิงจงหลีกไป” เมื่อทำสัตยาธิษฐานจบ เปลวไฟได้เปลี่ยนทิศไปทางอื่นห่างออกไป ๑๖ กรีส (กรีส อ่านว่า “กะหฺรีด” เป็นชื่อมาตราวัดพื้นที่สมัยโบราณ ๑๖ กรีส = ประมาณ ๑.๒๔ กิโลเมตร)
ที่มา : พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ (ภาษาบาลี) เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๕๘๘-๕๘๙ ข้อที่ ๒๙
ประยุกต์ใช้ : คนสมัยก่อนจะให้คาถานี้เสกทรายโปรยรอบบริเวณบ้าน อาคาร สถานที่ เพื่อป้องกันอัคคีภัย นอกจากนี้ยังใช้เสกเป่าแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ไฟลามทุ่ง งูสวัด แผลจากอาการร้อนใน โดยเคี้ยวใบพลูหรือข้าวสารพร้อมบริกรรมคาถาแล้วเป่าบริเวณที่เป็นแผล