บทสวดมนต์ สอนเจ้ากรรมนายเวร
บทสวดมนต์สอนเจ้ากรรมนายเวร บทสวดเพื่อปลดเปลี้องตนออกจากความอาฆาตพยาบาท ความโกรธแค้นชิงชัง ที่ตนมีต่อผู้อื่น และที่ผู้อื่นมีต่อตน
บทสวดมนต์ สอนเจ้ากรรมนายเวร
ตั้งนะโม ๓ จบ
อักโกจฉิ มัง อะวะธิ มัง อะชินิ มัง อะหาสิ เม
เย จะ ตัง อุปะนัยหันติ เวรัง เตสัง นะ สัมมะติ.
อักโกจฉิ มัง อะวะธิ มัง อะชินิ มัง อะหาสิ เม
เย จะ ตัง นูปะนัยหันติ เวรัง เตสูปะสัมมะติ.
นะ หิ เวเรนะ เวรานิ สัมมันตีธะ กุทาจะนัง
อะเวเรนะ จะ สัมมันติ เอสะ ธัมโม สะนันตะโน.
ก็ชนเหล่าใดเข้าไปผูกเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา
คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักสิ่งของๆ เรา ดังนี้ เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่ระงับ.
ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกเวรไว้ว่า คนโน้นด่าเรา คนโน้นได้ตีเรา
คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักสิ่งของๆ เรา ดังนี้ เวรของชนเหล่านั้น ย่อมระงับ.
ในกาลไหนๆ เวร ในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวรเลย แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร คำสอนนี้เป็นของเก่า.
-พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๕ ข้อ ๑๑.
โย ทัณเฑนะ อะทัณเฑสุ อัปปะทุฏเฐสุ ทุสสะติ
ทะสันนะมัญญะตะรัง ฐานัง ขิปปะเมวะ นิคัจฉะติ
เวทะนัง ผะรุสัง ชานิง สะรีรัสสะ จะ เภทะนัง
คะรุกัง วาปิ อาพาธัง จิตตักเขปัง วะ ปาปุเณ
ราชะโต วา อุปะสัคคัง อัพภักขานัง วะ ทารุณัง
ปะริกขะยัง วะ ญาตีนัง โภคานัง วะ ปะภังคุณัง
อะถะ วาสสะ อะคารานิ อัคคิ ฑะหะติ ปาวะโก
กายัสสะ เภทา ทุปปัญโญ นิระยัง โส อุปปัชชะติ.
ผู้ใดประทุษร้ายบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย ไม่มีความผิด
ผู้นั้นย่อมเข้าถึงเหตุแห่งทุกข์ ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งทันตาเห็น คือ
๑. ประสบทุกขเวทนาแสนสาหัส ๒. ร่างกายแตกสลาย
๓. เจ็บป่วยหนัก ๔. จิตแปรปรวนถึงเป็นบ้า
๕. ต้องอาญาแผ่นดิน ๖. ถูกกล่าวร้ายรุนแรง
๗. สิ้นญาติขาดมิตร ๘. เสื่อมโภคทรัพย์
๙. ไฟไหม้บ้าน ๑๐. ตายไปเกิดในนรก.
-พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๕ ข้อ ๒๐.
ตัสเสวะ เตนะ ปาปิโย โย กุทธัง ปะฏิกุชฌะติ
กุทธัง อัปฺปะฏิกุชฌันโต สังคามัง เชติ ทุชชะยัง.
ผู้ใดโกรธตอบบุคคลผู้โกรธ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นคนเลวกว่าผู้โกรธ เพราะการโกรธตอบนั้น, ส่วนผู้ใดไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธ ผู้นั้นชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก.
-พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๖ ข้อ ๓๕๘.
อักโกเธนะ ชิเน โกธัง อะสาธุง สาธุนา ชิเน
ชิเน กัท๎ริยัง ทาเนนะ สัจเจนาลิกะวาทินะ.
สัจจัง ภะเณ นะ กุชเฌยยะ ทัชชา อัปปัส๎มิง ยาจิโต
เอเตหิ ตีหิ ฐาเนหิ คัจเฉ เทวานะ สันติเก.
พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ, พึงชนะความร้ายด้วยความดี, พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้, พึงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำจริง. ผู้ที่ พูดคำสัตย์ ไม่โกรธ แม้มีน้อยเมื่อถูกขอก็ให้ ๓ อย่างนี้ ย่อมไปเกิดในหมู่ของเทวดา
-พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๕ ข้อ ๒๗.
คำขอขมากรรมแบบรวม
พุทโธ สาธุ, ธัมโม สาธุ, สังโฆ สาธุ
พุทโธ อโหสิ, ธัมโม อโหสิ, สังโฆ อโหสิ
สาธุ สาธุ อันว่าบาปทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทั้งหลาย
ทั้งปวง ที่ข้าพเจ้านี้ ได้เคยประพฤติล่วงเกิน ก่อกรรมทำไม่ดีไว้
ต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ก็ดี ต่อนักบวชนักบุญ ผู้มีศีลมีธรรมทั่วโลกทั่วจักรวาลก็ดี ต่อปูชนียสถานแดนบุญแดนธรรม ต่อวัดต่อวา ต่อพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ที่มีอยู่ทั่วโลกก็ดี ต่อคุณบิดามารดาที่มีชื่อว่า……(ออกชื่อบิดามารดา)…… ต่อคุณครูบาอาจารย์ ต่อผู้มีพระคุณทุกระดับ ต่อครอบครัววงศ์ตระกูล บรรพบุรุษ บุตรธิดา ญาติทั้งหลาย มิตรสหายทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย สรรพสัตว์ทั้งหลาย ดวงวิญญาณทั้งหลาย เทพเทวาทั้งหลาย
ที่เป็นบาปเป็นกรรม ที่ผิดศีลผิดธรรม ที่ไม่ดีไม่งาม ที่ไม่ถูกไม่ควร เพราะถูกกิเลสตัณหา คือราคะ โทสะ โมหะ เข้ามาสิงจิต ดลใจให้ข้าพเจ้านี้ หลงคิดผิด ทำผิด พูดผิด ทั้งที่เจตนาก็ตาม ไม่ได้เจตนาก็ตาม ทั้งที่รู้เท่าถึงการณ์ก็ตาม รู้ไม่เท่าถึงการณ์ก็ตาม ในอดีตชาติก็ตาม ในปัจจุบันชาติก็ตาม
บัดนี้ ข้าพเจ้า มีจิตสำนึกผิดแล้ว ในบาปทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ข้าพเจ้าขอน้อมกาย วาจา ใจ และบุญกุศลน้อยใหญ่ เป็นเครื่องขอขมาขอลาโทษ ต่อท่านทั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลาย จงได้เมตตา อโหสิกรรม อโหสิกรรม อโหสิกรรม ให้แก่ข้าพเจ้า เพื่อความไม่ประมาท เพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกทางธรรม เพื่อมรรคผลนิพพาน ในปัจจุบันชาตินี้ด้วยเทอญ ฯ
(กราบขอขมาโทษ ๓ ครั้ง)
บทความธรรมทานโดย
ศักดิ์สิทธิ์ พันธุ์สัทธ์
บรรณาธิการสำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง
แชร์ไปได้บุญเพิ่มพูนธรรมทานบารมีแก่ตน