ทาน คืออะไร ? ให้ทานอย่างไรดี !
ทาน คืออะไร ? ให้ทานอย่างไรดี !
ทาน คือ การให้ การเสียสละของตนแก่ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ
ประเภทของทาน
ทานแบ่งตามสิ่งที่ให้ ดังนี้
อามิสทาน คือ ให้สิ่งของเป็นทาน
ธรรมทาน คือ ให้ธรรมะเป็นทาน และที่ได้ยินในปัจจุบันคือ
วิทยาทาน คือ ให้ความรู้เป็นทาน
อภัยทาน คือ ให้อภัยไม่ถือโทษโกรธเคืองเป็นทาน
ในการดำเนินชีวิตต้องอาศัยทั้งอามิส และธรรมะ เพราะชีวิตมีสองด้านใหญ่ ๆ คือ กายกับใจ
อามิส บริหารชีวิตด้านกาย
ธรรมะ บริหารชีวิตด้านจิตใจ
ฉะนั้น พึงบำเพ็ญทานทั้ง ๒ ควบคู่กันไปเสมอ
แบ่งตามผู้รับทาน ดังนี้
ปาฏิปุคลิกทาน คือ ให้เจาะจงผู้ใดผู้หนึ่ง
สังฆทาน คือ ให้แก่ส่วนรวมหรือแก่สงฆ์
องค์ประกอบแห่งทาน
๑. สิ่งของที่จะให้ต้องบริสุทธิ์ (วัตถุทาน) คือ ได้มาด้วยความชอบธรรมไม่ผิดศีลธรรม และเป็นสิ่งของที่เหมาะสมแก่ผู้รับ ไม่เป็นสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม อันนำมาซึ่งความเบียดเบียน เช่น สุรา สิ่งเสพติดทุกชนิด อาวุธ และสื่อลามกต่าง ๆ
๒. ผู้ให้จะต้องให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยมุ่งหมายอนุเคราะห์บูชาคุณผู้รับ และขจัดความตระหนี่ในใจตน
๓. ผู้ให้ต้องมีความเข้าใจเรื่องทาน มีปัญญารู้จักเลือกให้
๔. ผู้ให้ต้องพยายามรักษาศรัทธาทั้งในก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้
๕. ผู้รับ มีส่วนสำคัญกับผลของทาน คือ ผลหรืออานิสงส์ของทานจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับบุญคุณและคุณธรรมของผู้รับ
๖. ผู้ให้ตั้งอยู่ในคุณธรรมสูงขึ้นไปมีศีลเป็นต้น จะทำให้ทานมีอานิสงส์มากขึ้น
จุดมุ่งหมายแห่งทาน
ส่วนตน ขจัดความตระหนี่อันเป็นมลทินในจิตใจ ที่คอยขัดขวางไม่ให้คุณธรรมอื่น ๆ เจริญ
ส่วนสังคม บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์แก่สังคม ทำให้ผู้อื่นได้รับความสุข แบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ทานที่ให้เพื่อทำคุณแก่ผู้รับ เช่น การให้ทานเพื่อให้ตนเป็นที่รักที่ชอบใจของประชาชนเป็นต้น
๒. ทานเพื่ออนุเคราะห์ ไม่ใส่ใจว่าจะเป็นบุญคุณหรือไม่ ทำไปเพื่ออนุเคราะห์ด้วยความเต็มใจ
๓. ทานเพื่อบูชาคุณ การให้เพื่อบูชาคุณความดีของผู้อื่นให้ด้วยใจบริสุทธิ์
ลักษณะของทาน
แบ่งตามชนิดของสิ่งที่บริจาคทาน
๑. ให้สิ่งของที่ตนไม่ต้องการแล้ว เรียกว่า เป็น ทาสทาน
๒. ให้สิ่งของที่ตนใช้สอยอยู่ (ให้สิ่งที่เสมอกัน) เรียกว่า สหายทาน
๓. ให้สิ่งของที่ดีที่สุด (เท่าที่มีอยู่) เรียกว่า สามีทาน
การทำบุญลักษณะที่ ๓ จึงจะมีผลมาก
ต้องรู้จักการให้แบบสัตบุรุษ
สัปปุริสทาน ๘ คือ
๑. ให้ของสะอาด
๒. ให้ของประณีต
๓. ให้ในเวลาที่เหมาะสม
๔. ให้ของที่สมควร เหมาะสม
๕. ให้ด้วยวิจารณญาณ รู้จักเลือกทั้งของและคนที่จะให้
๖. ให้ประจำ สม่ำเสมอ
๗. ขณะให้ทำใจให้ผ่องใส
๘. ให้แล้วเบิกบานใจ
ทานมีอานิสงส์ ตามคุณสมบัติผู้ให้
๑. ผู้ให้ทานด้วยศรัทธามั่นคงไม่หวั่นไหว มีจิตใจผ่องใส ทั้งก่อนให้ ขณะให้และหลังจากให้แล้ว ผลแห่งทานย่อมทำให้เขาเป็นผู้มีรูปงาม ผิวพรรณงาม น่ามองน่าเลื่อมใส
๒. ผู้ให้ทานด้วยความเคารพ ผลแห่งทานย่อมทำให้เขามีภรรยา สามี บุตร และบุคคลใกล้ชิดเป็นคนดี รู้จักเชื่อฟัง
๓. ผู้ให้ทานตามกาล ผลแห่งทานย่อมทำให้เขาสำเร็จสมปรารถนาทันเวลาที่ต้องการ
๔. ผู้ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ ผลแห่งทานย่อมทำให้เขาได้รับความอนุเคราะห์จากคนทั้งหลาย ถึงคราวลำบากย่อมมีคนคอยช่วยเหลือเสมอ
ทานมีอานิสงส์ ตามคุณสมบัติของผู้รับ
ผลจากการให้ทานนั้น ย่อมทำให้มีอายุยืน ผิวพรรณดี ความสุข ไม่มีโรคภัย มีปัญญา และมีทรัพย์ สำหรับทานที่ให้แก่สัตว์ทั่วไป มีผลร้อยเท่า แก่มนุษย์ มีผลพันเท่า แก่ผู้มีศีล มีผลแสนเท่า
ส่วนทานที่ถวายแก่สมมติสงฆ์ พระอริยสงฆ์ พระพุทธเจ้า และทานเพื่อส่วนรวม (สังฆทาน) มีผลหรืออานิสงส์ที่ไม่อาจนับได้โดยการคำนวณ
อนึ่ง ผลบุญไม่อาจชั่ง ตวง วัดได้ เพราะเป็นสิ่งเกิดในจิตใจ สั่งสมเป็นศักยภาพภายในของมนุษย์ แต่อาจจะกำหนดความน้อยความมากของผลบุญตามคุณสมบัติของผู้รับ ดังนี้
ให้ทานแก่สัตว์ ได้บุญน้อยกว่าให้คนทุศีล (คนไม่มีศีล)
ให้แก่คนทุศีล ได้บุญน้อยกว่าคนมีศีล
ให้แก่คนมีศีล ได้บุญน้อยกว่า ถวายแก่พระภิกษุ (ปุถุชน)
ถวายแก่พระภิกษุ (ปุถุชน) ได้บุญน้อยกว่า ถวายแก่พระอริยสงฆ์
ถวายแก่พระอริยสงฆ์ ได้บุญน้อยกว่า ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ได้บุญน้อยกว่า ถวายแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถวายแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บุญน้อยกว่า การถวายเป็นสังฆทาน (ถวายแก่ส่วนรวม)
ถวายเป็นสังฆทาน ได้บุญน้อยกว่า วิหารทาน (เพื่อประโยชน์แก่พระสงฆ์ผู้มาจากจตุรทิศ)
ผลที่กล่าวข้างต้นเฉพาะอามิสทาน ส่วนการให้ธรรมะเป็นทานมีอานิสงส์ที่คำนวณและกำหนดไม่ได้เลย เพราะการให้ธรรมะชนะการให้ทุกอย่าง
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า การบำเพ็ญทาน เป็นมงคลสูงสุดในชีวิต
ข้อมูลจาก หนังสือ “มงคลชีวิต 38 ประการ” เทพพร มังธานี สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง